ท่าน ว.วชิรเมธีเคยเล่าให้ผมฟัง (ท่านเขียนหนังสือแล้วผมไปอ่านเจอ) ว่าตอนที่ท่านเข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ วันหนึ่งมีคนเข็ญใจเข้าไปหาที่กุฏิแล้วเล่าพรรณาถึงความลำบากต่างๆนานาของการใช้ชีวิตในเมืองหลวง ด้วยความเห็นใจท่านเลยรวบรวมเงินทั้งจากท่านและลูกศิษย์วัดเพื่อให้ชายคนนั้นได้เดินทางกลับบ้านนอก หลังจากได้มอบเงินจำนวนนั้นแล้วท่านรู้สึกปีติที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์
เช้าวันรุ่งขึ้นออกบิณฑบาต ผ่านหลังโรงเรียนที่เป็นเส้นทางปรกติ ท่านมองเห็นวงเหล้าและมองเห็นคนหนึ่งหน้าตาคุ้นๆ เมื่อกลับถึงวัดเลยให้ศิษย์วิ่งไปดูว่าใช่คนที่มาเมื่อวานหรือเปล่า ศิษย์วัดวิ่งไปดูและกลับมาบอกว่าใช่ ท่าน ว. บอกว่าหลังจากวันนั้นท่านหมดศรัทธาในมนุษย์ไปพักใหญ่ๆ
จริงๆแล้วเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นกับตัวและคนรอบข้างของผมบ่อยมาก เพียงแต่ผมไม่เคยสิ้นศรัทธากับเรื่องพวกนี้ อีกอย่างผมได้ไปเห็นการพิสูจน์แล้วว่าคนที่คิดถึงคนอื่นก่อนตัวเองนั้นมีจริง เมื่อเร็วๆนี้เองตอนไปที่อำเภอเชียงคาน
เรื่องเล่าเกี่ยวกับอำเภอนี้ที่ผมได้ยินมาคือ เป็นเมืองเล็กๆริมแม่น้ำโขงที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่มายาวนาน ผู้คนส่วนใหญ่เป็นคนแก่และเด็กๆ ทุกคนล้วนน่ารักมีอัธยาศัยไมตรี ซึ่งผมว่ามันน่าจะเป็นเรื่องเล่ามากกว่า เพราะทุกอย่างที่เล่ามาผมเคยเห็นตอนเด็กๆสมัยที่อยุ่บ้านนอกเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน แต่พอไปอยู่จริงๆแค่ไม่กี่วัน ผมพบเห็นว่าเรื่องเคยได้ยินมาไม่เกินจริงเลย โดยเฉพาะความน่ารักของผู้เฒ่าผู้แก่
ผมพักอยู่ที่เกสต์เฮาส์เก่าแก่แห่งหนึ่ง มีเจ้าของเป็นพี่ผู้หญิงอายุ 50 กว่าๆ มีลูกน้องอยู่ 2-3 คน ด้วยความช่างสนทนาของเจ้าของบ้านก็เลยสนิทกันอย่างรวดเร็ว ช่วงที่ผมพักอยู่มีอาจารย์-นักศึกษาคณะศิลปกรรม จากมหา’ลัยนึงมาพักด้วย ผมพักมาได้ 3-4 วันจนสนิทกับเจ้าของบ้านและน้องๆนักศึกษา อาจารย์วานให้ทางที่พักทำอาหารเช้าเลี้ยงนักศึกษาทั้งหมดโดยให้งบมาจำนวนหนึ่ง
ทางที่พักมีบุคคลากรจำกัดเลยให้ป้าร้านขนมจีนข้างวัดท้ายซอย 21 ทำข้าวต้มให้ โดยบอกจำนวนคน จำนวนข้าว จำนวนของส่วนประกอบเครื่องปรุง จำนวนเนื้อหมูที่ต้องซื้อมาทำ ป้าร้านขนมจีนเลยบอกว่า อุ้ย ข้าวแค่นี้จะอิ่มกันเหรอ แล้วหมูเท่านี้จะพอเหรอ เดี๋ยวเด็กๆจะไม่อิ่มกัน ปรากฎว่าป้าแกแอบเพิ่มจำนวนเครื่องและข้าว ในขณะที่ผมดีดลูกคิดในใจ คำนวนงบประมาณเท่านี้ทำอาหารขนาดนี้ จะได้กำไรมั้ยนั่น แต่ที่ป้าแกคิดคือ “นักศึกษาจะอิ่มหรือเปล่า”
อีกเหตุการณ์หนึ่ง
มีนักศึกษาในกลุ่มนี้ทำกระเป๋าสตางค์หายบนรถตอนเดินทางมา ป้าคนที่เป็นเจ้าของเกสต์เฮาส์ถามว่ามีตังค์เหลือหรือเปล่า น้องเขาบอกว่าตังค์อยู่ในกระเป๋าทั้งหมด ป้าเจ้าของบ้านเลยเอาเงินให้น้องเขาไปจำนวนหนึ่ง บอกว่าเอาไปใช้ซื้อของกินตอนที่อยู่ที่นี่นะหนู
ผมถามเจ้าของบ้านแกว่า “พี่ให้ตังค์น้องเขาเลยเหรอครับ”
แกตอบว่า “พี่เคยเรียนหนังสือและรู้ว่าถ้าท้องหิวมันจะเรียนไม่รู้เรื่อง อีกอย่างพี่ไม่ได้เดือดร้อนอะไรเลย น้องเขาสิเดือดร้อนเพราะว่าอยู่ที่นี่มันต้องมีค่ากินค่าอยู่”
นั่นทำให้ผมรู้สึกว่ามาไม่ผิดที่แฮะ ที่นี่เชียงคานชัดๆ
การมาเที่ยวพักผ่อนที่นี่ ไม่ได้ให้แค่พักร่างกาย แต่ที่นี่ให้ความสุขทางจิตใจด้วย และที่สำคัญที่สุดที่นี่สอนผมว่าอย่าสิ้นศรัทธาต่อเพื่อนมนุษย์ และการให้นั้นก็ทำให้เรามีความสุขไม่แพ้การรับ หรืออาจจะให้ความสุขกับเรามากกว่าด้วยซ้ำ
อ่านแล้วได้แต่ภาวนาให้เชียงคานของคุณลุงเจ้าของเว็บ
ยังคงเป็นเชียงคานที่เคยเห็นไปนานๆ
เมื่อวันเสาร์ (๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓)
น้ำในเมืองที่ผมอาศัยเพิ่งลดลงหมาดๆ
จากระดับเฉลี่ยสองเมตร เหลือแต่ฝุ่นโคนและขยะเน่า
มีผู้ชายวัยราวห้าสิบ รูปรางผอมสูง
หิ้วถุงหนึ่งใบมาที่ทำงานผม
ในถุงใบนั้นมีรูปถ่าย รูปถ่ายอัดกรอบ
ใบประกาศนียบัตร ใบแสดงผลการศึกษา
และวิทยานิพนธ์พิมพ์สำเร็จของบัณฑิตหญิงคนหนึ่ง
เธอจบจากมหาวิทยาลัยในประเทศมาเลเซีย
แต่เมื่อดูจากชื่อและนามสกุล เธอน่าจะเป็นคนไทย
จังหวัดที่ผมอยู่ มีชายแดนติดกับมาเลเซีย
องค์กรที่ผมทำงานอยู่ เป็นองค์กรสื่อท้องถิ่น
ผู้ชายคนที่หิ้วถุงมา เป็นคนขับตุ๊กๆ
เขาบอกว่าผู้โดยสารหญิงสองคน ลืมไว้บนรถของเขา
เขาเพิ่งรู้ว่ามีคนลืมของไว้บนรถตอนที่ส่งลูกค้าลงรถไปแล้วระยะหนึ่ง
สิ่งที่คนขับตุ๊กๆ วัยใกล้หกสิบทำคือ
ขับรถกลับไปยังที่ที่ส่งลูกค้าเพื่อเผื่อว่าคนลืมของจะมารอ
น้ำมันเสียไป เวลาเสียไป
ไม่เห็นวี่แววเจ้าของถุง
ตัดสินใจขับรถตัดเมืองจากฟากมุมเมืองตะวันตกมาตะวันออก
ระยะทางราว 8 กิโล
ฝ่าการจราจรของเมืองหลังน้ำท่วมประมาณ 30 นาที มาที่ทำงานผม
คะเนจากเวลาเดินทาง คาดว่าไม่ได้แวะรับผู้โดยสารที่ไหนเลย
ตรงดิ่งมาอย่างเดียว
แกบอกผมว่า ตอนแรกคิดว่าจะเอาของฝากไว้กับบริษัททัวร์ที่แกรับลูกค้ามา
แต่พอคิดแล้วก็กลัวว่าบริษัททัวร์จะไม่ดำเนินการให้หรือกลัวของจะหายเสีย
เลยเอามาให้สื่อดีกว่า
ผมพบเห็นเรื่องเล็กๆ แบบนี้บ่อยๆ
เลยตอบคุณลุงเจ้าของเว็บไซต์ได้เลยว่า
ถ้ามันไม่หนักหนา ไม่ว่าใครก็อย่าเพิ่งสิ้นศรัทธาในมนุษย์เลยครับ
เมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา เมื่อต้องเดินทางโดยรถตู้โดยสารในกรุงเทพ (กลับจากสอบเนติบัณฑิต) จุดเริ่มต้นที่ ม.รามคำแหง จุดสิ้นสุดที่ รังสิต ใช้เวลานั่งรถประมาณ 2 ชั่วโมง ค่าโดยสาร 30 บาท ผมยื่นธนบัตรใบละ 50 บาท ให้พนักงานขับรถ ซึ่งขณะนั้นมีผู้ยื่นค่าโดยสารพร้อมกัน 3 คน ธนบัตรต่างชนิดกัน พนักงานขับรถทอนให้ผม 70 บาท ผมยื่นคืนให้ 50 บาท บอกว่าอย่าทอนเกินครับไม่ได้ค่าโดยสารแล้วยังขาดทุนด้วย พนักงานขับรถขอบคุณผม แลดูสีหน้าค่อนข้างแช่มชื่น เขาคงดีใจ ไม่ใช่ดีใจที่ไม่ได้ขาดทุน 50 บาท แต่คงดีใจและมีความหวังที่ในสังคมปัจจุบันยังมีคนที่ทำให้สังคมน่าอยู่
ผมไม่แคร์ถ้าใครจะว่าผมซื่อหรือโง่ เพราะผมภาคภูมิใจในคำสอนของพ่อ ภาคภูมิใจในความซื่อและสุจริตของตน ดีใจที่คนบ้านนอกคนหนึ่งสามารถทำให้คนในเมืองกรุงรู้สึกว่าโลกนี้ยังน่าอยู่
เพียงแค่นี้ทำให้หัวใจผมพองโตอย่างเป็นสุข
มีกรณีเช่นกระทู้ที่เจ้าของบทความตั้งไว้ให้พบเห็นมากมาย แต่อย่างไรผมก็ไม่สิ้นศรัทธาในมนุษย์
ยังมีศรัทธา
ยังเชื่อว่าคนดีมีจริง
ถ้าถามถึงขนาดว่าเคยสิ้นศรัทธาในมนุษย์ไม๊เนี่ย
คงไม่มีความคิดในทำนองนี้เลย
เพราะรู้สึกว่ามนุษย์เราเอาอะไรแน่ไม่ได้
หรือหากถามว่าเคยสิ้นศรัทธาในคนใดคนหนึ่งหรือไม่
ก็ไม่เคยมีความคิดเช่นกันนะ
เพราะไม่เคยรู็สึกศรัทธาใครถึงกับต้องให้สิ้นศรัทธานี่นะ
แต่ถ้าถามว่าเคยรู้สึกดีๆ กับใครแล้วเกิดความรู้สึกไม่ดีกับเขาบ้า่งไม๊
อันนี้อาจจะมีอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็แค่ปล่อยมันไป ไม่เก็บมันไว้ให้หนักหมอง
ก็แค่ “คน” นี่นะ (หมายถึงตัวเองนะ)
วันก่อนนู๊นนนน จำไม่ได้แล้ว แต่จำภาพติดตาได้
เห็นคนเก็บขยะขับซาเล้งร้องเพลงอย่างมีความสุข ก็แอบนึกอิจฉาเขาในใจ
คนเราหาความสุขได้กับอะไรง่ายๆ ดีนะ
เขาไปเก็บขยะแถววินมอเตอร์ไซค์ เก็บขวดน้ำ กระป๋องน้ำอัดลม และขยะจริงๆ
เจ้าขวดน้ำ และกระป๋องน้ำอัดลม พอเข้าใจว่าเขาเก็บไปทำไม
แต่ขยะประเภทถุงพลาสติก ไม้เสียบลูกชิ้น และอีกหลายชิ้นเขาเก็บไปทำไม
ทำไมรู้ไม๊
เขาเก็บไปทิ้งถังขยะ เก็บขยะที่คนทิ้งไว้และไม่ใช่หน้าที่เขา
เพื่อเดินไปทิ้งในถังขยะ
นึกถึงตัวเอง ถ้าเป็นเราจะเก็บขยะที่ไม่เป็นประโยชน์กับตัวเองเหล่านี้ไม๊
ไม่แน่นอน…
แล้วก็…รู้สึกทึ่่งในความเป็น”คนเก็บขยะ” ของเขาล่ะ